ก่อนอื่นผมขอกล่าวถึงการเปรียบเทียบองค์ประกอบที่จำเป็นของบทความนี้ก่อนนะครับ ได้แก่ ระบบคอมพิวเตอร์และเครื่องเซิร์ฟเวอร์ ก็เปรียบได้กับบ้านของพวกเรา และน้ำท่วมนั้นก็เปรียบได้กับผู้โจมตีหรือแฮกเกอร์ เป็นต้น
วิธีการป้องกันน้ำท่วมบ้านนั้นก็เปรียบเสมือนกับผู้ดูแลบริหารจัดการระบบคอมพิวเตอร์นั้นจำเป็นจะต้องป้องกันโอกาสที่จะถูกโจมตีจากเหล่าแฮกเกอร์ ได้แก่
- การติดตั้งไฟร์วอลล์ เปรียบได้กับการสร้างรั้วป้องกันน้ำ ด้วยอิฐบล็อก หรือการสร้างคันกั้นน้ำด้วยทราย และกระสอบทราย เพื่อปฏิเสธไม่ให้น้ำซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการนั้นเข้ามาในบ้านของเราได้
- โปรแกรมอุดช่องโหว่ (Patch) เปรียบได้กับการใช้สิลิโคน กาวยาง หรืออุปกรณ์ต่างๆ อุดตามรูรั่วที่อยู่ตามรั้ว ประตู และจุดต่างๆรอบๆบ้าน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการป้องกันระบบคอมพิวเตอร์ เจ้าหน้าที่ดูแลระบบคอมพิวเตอร์นั้นก็ต้องอัพเดตโปรแกรมต่างๆด้วยโปรแกรมอุดช่องโหว่อยู่สม่ำเสมอ
- ระบบตรวจจับผู้บุกรุก (IDS) ก็เปรียบได้กับการติดตั้งระบบแจ้งเตือนน้ำท่วม
- สำรองข้อมูลที่สำคัญ นั้นก็อาจเปรียบได้กับการเก็บของสำคัญเพื่อไม่ให้น้ำมาทำลายให้เสียหาย
จะเห็นว่าที่จริงแล้วการป้องกันระบบคอมพิวเตอร์นั้นก็ไม่ได้แตกต่างจากการป้องกันน้ำท่วมบ้านมากนัก โดยแนวความคิดของแฮกเกอร์หรือน้ำนั้นก็คล้ายกัน นั่นก็คือการพยายามหาจุดอ่อนเพียงจุดเดียวเพื่อที่จะบุกรุกเข้ามาในระบบเครือข่ายหรือบ้านของเรา แต่หากเราที่มีหน้าที่ดูแลระบบคอมพิวเตอร์และบ้านจำเป็นจะต้องอุดช่องโหว่ทั้งหมดที่มีอยู่ ดังนั้นงานของเราจึงหนักกว่าเหล่าแฮกเกอร์มากนัก
ถึงแม้ว่าเราจะเตรียมการป้องกันรอบนอกอย่างแน่นหนาแล้ว ก็ยังไม่พอเนื่องจากภัยคุกคามที่น่ากลัวอย่างหนึ่งคือ ภัยที่เกิดจากภายใน (Insider Threat) ซึ่งก็เหมือนกับการที่ไม่ระวังป้องกันน้ำจากท่อระบายน้ำภายในบ้าน ทำให้น้ำสามารถเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านจากภายในบ้านได้อีกด้วย อีกทั้งเหตุน้ำท่วมตามที่ต่างๆนั้นก็เกิดจากสาเหตุนี้ด้วย