Thursday, January 19, 2012

คาดการณ์ภัยร้ายที่อาจมาพร้อมกับ Smart TV

หลังจากที่ช่วงนี้ผมเตรียมสไลด์สำหรับบรรยายอยู่นั้นผมก็ดันไปนึกถึงว่าเมื่อก่อนเคยคิดเล่นๆว่า จะทำอย่างไรถ้าหากไวรัสติดที่ตู้เย็น เลยมาเปรียบเทียบกับความเป็นไปได้ในปัจจุบัน เลยพบถึงความน่าสนใจที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ก็ได้

***หมายเหตุ บทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นของผู้เขียนเท่านั้น ไม่ได้ต้องการสร้างความตื่นตระหนก เพียงแค่อยากให้เห็นว่าภัยร้ายมักจะมาควบคู่กับเทคโนโลยี

ก่อนหน้านี้นั้นผมเรียนรู้ว่าเมื่อมีการใช้ IPv6 จะทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้รับไอพีและเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ แต่จนปัจจุบันนี้ผมก็ยังไม่เคยเห็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ออกมารองรับ IPv6 เลยครับ จนผมเคยพูดเล่นๆกับเพื่อนๆว่าต่อไปเราอาจจะไม่ต้องแก้ปัญหาไวรัสบนเครื่องคอมพ์อย่างเดียว เราอาจจะต้องไปกำจัดไวรัสที่ติดในตู้เย็น ทีวี เครื่องเสียงก็เป็นได้ ณ เวลานั้นคงเป็นเพียงจินตนาการเพ้อฝันแบบเด็กๆก็ได้ แต่มาในวันนี้เมื่อผมได้เห็นโฆษณาโทรทัศน์อัจฉริยะ (Smart TV) ทำให้แนวความคิดที่ผมเคยคิดเล่นๆมันย้อนกลับมาทำให้ผมอยากเขียนบทความนี้

โทรทัศน์อัจฉริยะคืออะไร
จากนิยามที่วิกิพีเดียกล่าวไว้ โทรทัศน์อัจฉริยะเป็นคำที่ใช้เรียกการผสมผสานของอินเทอร์เน็ตและเว็บ 2.0 เข้ากับชุดโทรทัศน์และ Set-top boxes (เป็นอุปกรณ์ที่ต่อเพิ่มเข้ากับโทรทัศน์ เพื่อใช้รับสัญญาณโทรทัศน์) ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการนำคอมพิวเตอร์มายัดใส่ในโทรทัศน์หรือ Set-top boxes ก็ได้ ดังนั้นโทรทัศน์อัจฉริยะจึงมีระบบปฏิบัติการคล้ายคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้สามารถติดตั้งโปรแกรมได้ และที่สำคัญสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ระบบปฏิบัติการที่ใช้ในโทรทัศน์อัจฉริยะส่วนใหญ่จะใช้ระบบปฏิบัติการคล้ายที่ติดตั้งบนโทรศัพท์อัจฉริยะ (Smartphone) และ แท็บเบล็ต (Tablet) ซึ่งเป็นลีนุกซ์ แอนดรอยด์ และซอฟต์แวร์ประเภทโอเพ่นซอร์ส


รูปที่ 1 แสดงภาพของโทรทัศน์อัจฉริยะ 
(ภาพประกอบจาก http://www.chipchick.com/2011/05/smart-tv-apps.html)

อนาคตภัยที่อาจจะเกิดขึ้น

  • เจาะระบบ (Hacking) อย่างที่เราทราบกันว่าโทรทัศน์อัจฉริยะนั้นมีคอมพิวเตอร์อยู่ข้างใน กล่าวคือมีระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ เช่น มีโก้ (Meego) อูบันตู (Ubuntu) หรือระบบปฏิบัติการสำหรับอุปกรณ์มือถือต่างๆ เช่นแอนดรอยด์ (Android) ถูกติดตั้งมาพร้อมกับความสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้อีกด้วย ถ้ายิ่งผู้ใช้งานนั้นท่องอินเทอร์เน็ตโดยใช้โทรทัศน์อัจฉริยะ รหัสผ่านของบัญชีผู้ใช้งานต่างๆ หรือข้อมูลส่วนตัว ก็ถูกบันทึกไว้ในเครื่องโทรทัศน์อีกด้วย ดังนั้นไม่น่าจะแปลกใจถ้าหากแฮกเกอร์จะเจาะระบบที่โทรทัศน์อัจฉริยะที่เต็มไปด้วยข้อมูลส่วนบุคคลที่มีค่าอย่างมากของผู้ใช้งาน
รูปที่ 2 แสดงหน้าจอของ อูบันตูทีวี (Ubuntu TV) ซึ่งติดตั้งระบบปฏิบัติการลีนุกซ์อูบันตู
  • มัลแวร์ (Malware) หรือไวรัสคอมพิวเตอร์ หลังจากที่แฮกเกอร์สามารถแฮกโทรทัศน์อัจฉริยะได้แล้ว มีความเป็นไปได้สูงที่จะทำการฝังม้าโทรจันหรือเปิดประตูลับไว้สำหรับที่จะทำให้แฮกเกอร์สามารถย้อนกลับเข้ามาในเครื่องได้อีก นอกจากนี้อาจจะทำการติดตั้งโปรแกรมดักจับปุ่มกดต่างๆ เพื่อลักลอบเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเช่นชื่อบัญชี รหัสผ่าน และข้อมูลบัตรเครดิต เป็นต้น มัลแวร์หรือไวรัสคอมพิวเตอร์นั้นเป็นเพียงซอฟต์แวร์ชนิดหนึ่ง ดังนั้นเมื่อโทรทัศน์อัจฉริยะมีระบบปฏิบัติการถูกติดตั้งอยู่ภายใน จึงเป็นเรื่องง่ายที่มัลแวร์จะถูกติดตั้งในโทรทัศน์ได้อย่างง่ายดาย
  • ทำสงครามข้อมูลข่าวสาร (Information warfare) ต่อไปเมื่อผู้ใช้งานสามารถท่องอินเทอร์เน็ตผ่านโทรทัศน์ได้ การเผยแพร่ข่าวสารผ่านโทรทัศน์อัจฉริยะขึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางเผยแพร่ข่าวสารที่มีประสิทธิและรวดเร็วซึ่งบางครั้งเร็วกว่าข่าวจากรายการทางโทรทัศน์อีกด้วย ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีผู้ประสงค์ร้ายอาศัยช่องทางนี้ในการเผยแพร่ข่าวสารผิดๆ เพื่อสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชน อีกทั้งอาจจะเป็นการทำลายชื่อเสียงของบางคนได้อีกด้วย
  • สแปม (Spam) การโฆษณาในรายการโทรทัศน์นั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เมื่อโทรทัศน์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ การโฆษณาก็น่าจะหันมาใช้อินเทอร์เน็ตมาช่วยเพื่อลดค่าใช้จ่าย และยังสามารถโฆษณาได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย ดังนั้นจึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับนักส่งสแปมจะอาศัยช่องทางนี้ในการส่งสแปมเมล์ได้
  • สแคม (Scam) จากที่โฆษณาต่างๆถูกเผยแพร่ผ่านทางอินเทอร์เน็ตของโทรทัศน์อัจฉริยะแล้ว ก็อาจจะมีผู้ประสงค์ร้ายนั้นสร้างโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อทำให้เหยื่อเกิดกิเลสและความโลภ จนถึงขั้นยอมทำตามคำสั่ง เช่นให้ข้อมูลส่วนบุคคลของเหยื่อ หรือโดนหลอกให้โอนเงิน เป็นต้น โดยขาดความตระหนักได้
  • การฉ้อโกง (Fraud) เมื่อโทรทัศน์นั้นเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ธุรกิจหนึ่งที่น่าจะมีการใช้บริการกันอย่างแพร่หลายคือการสั่งซื้อภาพยนตร์มาชมที่บ้าน ซึ่งกระบวนการสั่งซื้อก็อาจจะเป็นการเลือกภาพยนตร์ แล้วก็ชำระเงินผ่านทางบัตรเครดิต จากนั้นจึงสามารถทำการดาวน์โหลดมาชมได้ ดังนั้นผู้ประสงค์ร้ายก็อาจจะฉวยโอกาสนี้มาหลอกล่อให้เหยื่อหลงเชื่อให้โอนเงินมาเพื่อชำระสินค้า แต่ไม่ได้มีสินค้าหรือหน้าร้านอยู่จริง ทำให้เหยื่อนั้นสูญเสียเงินหรือข้อมูลส่วนบุคคลอื่นๆได้ด้วย

ป้องกันอย่างไรดี
  1. ไม่เยี่ยมชมเว็บไซต์ ไม่ดาวน์โหลดโปรแกรมจากเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม หรือไม่แน่ใจถึงความปลอดภัย
  2. ไม่ติดตั้งแอพฯที่ไม่เหมาะสม ไม่ทราบแหล่งที่มา
  3. อัพเดตระบบปฏิบัติการและแอพฯต่างๆ ที่ถูกติดตั้งอยู่สม่ำเสมอ
  4. ไม่หลงเชื่อโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ หรือข่าวสารผิดๆ ที่อาจถูกส่งมาในโทรทัศน์อัจฉริยะ
  5. ไม่โอนเงิน หรือไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวใดๆทั้งสิ้น แก่เว็บไซต์ที่น่าสงสัย
  6. ติดตามข่าวสารที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยสารสนเทศต่างๆ
ทิ้งท้าย
จากที่ได้กล่าวในตอนต้นแล้วว่าบทความนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างความตื่นตระหนก แต่อยากให้ผู้อ่านได้ตระหนักว่าเมื่อเทคโนโลยีล้ำหน้าไป ภัยคุกคามต่างๆ ก็จะยิ่งใกล้ตัวเรามากขึ้น และภัยคุกคามที่ถูกยกตัวอย่างในบทความนี้ ยังไม่ได้เกิดขึ้่นจริง และเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ดังนั้นใครจะเลือกใช้เทคโนโลยีใดๆ ก็ขอให้ศึกษารายละเอียดก่อน และติดตามข่าวสารต่างๆ ด้วยนะครับ 

อย่าลืมนะครับ "ตระหนัก อย่าตระหนก"

ใครสนใจพูดคุยกันก็สามารถติดต่อผู้เขียนได้ที่ข้อมูลด้านล่างนะครับ :)
Twitter : @kitisak


No comments: