Tuesday, October 30, 2012

SCAM ตอนที่ 1 ​: ทำความรู้จักกับสแกม (SCAM)


หายหน้าหายตาไปนานเลยครับ เพราะมัวเมาแต่งานอย่างอื่น จนลืมแบ่งเวลาให้กับแฟนๆบนบล็อก เอิ๊กๆๆ เมื่อกลางเดือนได้มีโอกาสไปไต้หวันในงาน 2012 Taipei Summit และอาทิตย์หน้าจะรับเชิญไปเยี่ยมแล็บของเทรนด์ไมโคร ณ กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์​ แถมร่างกายช่วงก่อนหน้านี้ก็ไม่ค่อยจะสู้่ดีเท่าไหร่ ป่วยค่อนข้างบ่อยเลยทีเดียว แต่ช่วงนี้ก็ดีขึ้นหลังจากกลับไปออกกำลังกาย และพักผ่อนให้มากขึ้น

เอาหล่ะครับวันนี้ผมติดค้างบทความที่ตั้งใจจะเขียนให้ความรู้เกี่ยวกับสแกม (SCAM) ว่าคืออะไร มีประเภทใดบ้าง พร้อมตัวอย่าง บทความนี้ถูกเขียนขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักให้แก่ผู้อ่านทุกท่าน ไม่ได้มีจุดประสงค์จะทำลายชื่อเสียงบุคคลหรือหน่วยงานองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น

สแกม (SCAM) คืออะไร
หลายๆ คนคงคุ้นเคยกับคำว่า สแปมเมล์ (SPAM MAIL) หรือเมล์ขยะ คืออีเมล์ที่เราไม่ต้องการ อาจจะเป็นอีเมล์โฆษณาชวนเชื่อ ส่วนสแกม (SCAM) นั้นผู้ไม่หวังดีจะต้องหว่านส่งอีเมล์หรือข้อความในสื่อต่างๆ บนเครือข่ายสังคมออนไลน์จำนวนมหาศาล (คล้ายๆกับการส่งสแปมเมล์) แต่สแกมนั้นจะต้องมีจุดประสงค์ในการหลอกให้เหยื่อทำอะไรบางอย่างที่ชัดเจน เช่น หลอกให้เหยื่อโอนเงินไปให้ หลอกให้เหยื่อกรอกข้อมูลส่วนตัว หรือหลอกให้เหยื่อแชร์ข้อมูลต่อๆไป เป็นต้น ดังนั้นถ้าหากมีเหยื่อหลงเชื่อเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ให้โอนเงินไปให้ หรือส่งข้อมูลไปให้ เท่านี้ผู้ไม่หวังดีก็สามารถสร้างรายได้มากมายแล้ว

ตัวอย่างสแกมที่น่าสนใจ ขอแบ่งตามวัตถุประสงค์ของผู้ไม่หวังดี
  1. หลอกให้เหยื่อโอนเงินไปให้ ได้แก่
    • ไนจีเรียนสแกม (Nigerian SCAM) เป็นสแกมที่หลอกลวงว่าเขาเป็นเจ้าชายแห่งประเทศไนจีเรียยังไม่ได้รับตำแหน่ง ซึ่งขณะนี้ตกอับและพยายามรวบรวมเงินกลับประเทศ เพื่อไปรับตำแหน่งกษัตริย์ และตนเองจะมีเงินมหาศาล แล้วจากนั้นจะแนบท้ายในอีเมล์ว่าขอให้ท่านช่วยโอนเงินมาให้จำนวนหลักหมื่นบาท แล้วหลังจากได้รับตำแหน่งจะได้เงินตอบแทน 10 เท่า 
    • ญาติหรือเพื่อนของเรากำลังลำบาก เป็นสแกมที่ต้องอาศัยการขโมยบัญชีอีเมล์ของเรา จากนั้นก็จะส่งอีเมล์จากบัญชีที่ถูกขโมยได้มายังเพื่อนๆของเราตามรายชื่อที่ถูกเก็บไว้ในบัญชีอีเมล์ โดยเนื้อความนั้นจะบอกว่าเราอยู่ต่างประเทศ (ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศอังกฤษ) แล้วกระเป๋าเดินทางสูญหายจากสนามบิน กระเป๋าเงินถูกขโมย ไม่มีพาสปอร์ตและเงินเหลือติดตัวเลย ดังนั้นขอให้เหยื่อ (เพื่อนของเรา) ให้โอนเงินยังผู้ไม่หวังดีเพื่อที่จะนำไปซื้อตั๋วเครื่องบินกลับประเทศไทย ถ้าหากเรามีเพื่อนหรือญาติที่เดินทางไปประเทศนั้นๆพอดี และไม่ได้ตรวจสอบให้ดีก่อนว่าเป็นความจริงหรือไม่ ก็จะตกเป็นเหยื่อได้อย่างง่ายดาย

  2. หลอกให้เหยื่อกรอกข้อมูลส่วนตัว 
    • ฟิชชิ่งสแกม (Phishing SCAM) ที่จริงแล้วก็คือฟิชชิ่งนั่นเอง (สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ รู้ทันเทคนิคการขโมยข้อมูล : http://foh9.blogspot.com/2012/04/blog-post_04.html ) ซึ่งผู้ไม่หวังดีจะส่งอีเมล์หาเราเพื่อโน้มน้าวให้เราเข้าเว็บไซต์ที่เลียนแบบหน้าตาของเว็บไซต์ธนาคาร สถาบันการเงิน และร้านค้าออนไลน์ต่างๆ ถ้าหากเหยื่อหลงเชื่อก็จะกรอกข้อมูลส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับบัญชีของธนาคารแห่งนั้นๆได้
    • สแกมหลอกว่าได้รับรางวัล หลายๆคนคงเคยเห็นอีเมล์ที่บอกว่าเราได้รับสิทธิ์พิเศษในการชิงรางวัลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ คอมพิวเตอร์ราคาแพง หรือแม้กระทั่งแพกเกจทัวร์ต่างๆ จากนั้นถ้าหากเราหลงเชื่อแล้วเข้าเว็บไซต์ของผู้ไม่หวังดี เขาก็จะให้เรากรอกข้อมูลส่วนตัวของเรา เช่นหมายเลขโทรศัพท์มือถือ ชื่อนามสกุล หรือบางเว็บอาจจะขอข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินของเราก็ได้ เป็นต้น ดังรูปที่ 1

    •  
      รูปที่ 1 แสดงตัวอย่างอีเมล์หลอกลวงว่าสิทธิ์ในการสั่งซื้อสินค้าราคาพิเศษ

  3. หลอกให้เหยื่อแชร์ข้อมูลต่อๆไป
    • สตาร์บักส์สแกม (Starbucks SCAM) ต้องบอกว่ากาแฟยี่ห้อดังถูกผู้ไม่หวังดีอาศัยชื่อเสียงเพื่อหลอกลวงเหยื่อ ซึ่งสแกมนี้ถูกส่งมาในเฟซบุ๊คเพื่อหลอกให้เหยื่อนั้นส่งข้อมูลเพื่อแลกกับคูปองดื่มกาแฟฟรี สุดท้ายแล้วมีเหยื่อจำนวนมากทำการแชร์ข้อมูลต่อไป แต่ไม่ได้รับคูปองดังกล่าว 
รูปที่ 2 แสดงข้อความบนเฟซบุ๊คที่หลอกว่าจะได้รับคูปองทานกาแฟฟรี

ป้องกันตัวเองอย่างไรเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
  1. อย่าหลงชื่อข้อความที่ได้รับมาผ่านทางอีเมล์หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์โดยง่าย
  2. อย่าโลภ พึงระลึกเสมอว่าไม่มีสิ่งใดที่ได้มาโดยง่าย
  3. หากได้รับอีเมล์หรือข้อความที่น่าสงสัย ให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของจดหมายให้แน่ชัดก่อน
  4. จากข้อ 3 หากพบความอีเมล์หรือข้อความดังกล่าวเป็นสแกมจริง ให้ลบทิ้งทันที และห้ามส่งต่อ เพื่อจำกัดขอบเขตของสแกมให้เหลือน้อยที่สุด
  5. หากได้รับอีเมล์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่เรารู้จัก ก็ให้ติดต่อเขาผ่านช่องทางอื่นๆก่อน จนกว่าจะแน่ใจว่าเขาประสบปัญหาจริง
  6. หากใครที่หลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อ ให้แจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวัน

บททิ้งท้าย
ในบทความนี้ผู้อ่านทุกท่านคงได้รับความรู้ว่าสแกมคืออะไร มีแบบใดบ้าง รวมทั้งวิธีการป้องกันตัวเอง ดังนั้นผมจะขออนุญาตจบไว้เท่านี้ก่อน แต่สัญญาว่าบทความต่อไปจะนำตัวอย่างสแกมบนเฟซบุ๊คที่น่าสนใจ ที่ผมได้รับในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา พร้อมทั้งได้นักเขียนรับเชิญอย่างพี่ Pituphong Yavirach หรือ PenguinArmy มาร่วมวิเคราะห์ที่มาที่ไปของสแกมดังกล่าวด้วย


Friday, October 05, 2012

Wednesday, October 03, 2012

NIST ประกาศชื่อผู้ชนะการแข่งขันคิดอัลกอริทึ่ม SHA-3

ข่าวใหญ่ของวงการ IT Security วันนี้คือ NIST ประกาศผู้ชนะการแข่งขันสร้างอัลกอริทึ่มในการทำแฮช SHA-3 แล้ว ชื่ออัลกอริทึ่มนี้ว่า Keccak (อ่านว่า “catch-ack”) ถูกสร้างโดย Guido Bertoni, Joan Daemen และ Gilles Van Assche จาก STMicroelectronics และ Michaël Peeters จาก NXP Semiconductors เท่าที่อ่านข้อมูลมานั้นมีความแตกต่างจาก SHA-2 โดยสิ้นเชิง ทำให้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับ SHA-2 จะไม่เกิดขึ้นกับ SHA-3 อย่างแน่นอน นอกจากนี้ SHA-3 เหมาะสำหรับระบบสมองกลฝังตัว (Embedded) และอุปกรณ์เชื่อมต่อระบบเครือข่ายที่ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ เช่นเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่สามารถถูกควบคุมได้จากระยะไกล 

อ่านเพิ่มเติม http://www.nist.gov/itl/csd/sha-100212.cfm

Tuesday, October 02, 2012

ตีแผ่...แก๊งค์แชร์ลูกโซ่

*** บทความนี้ผมเขียนขึ้นจากข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ข่าว และเว็บบอร์ด รวบรวมไว้เพื่อเป็นอุทธาหรณ์ โปรดใช้วิจารณญาณของตนเอง และเพื่อต้องการสร้างความตระหนักแก่ผู้อ่านทุกท่าน ไม่ได้มีเจตนาทำลายชื่อเสียงของบุคคลหรือหน่วยงานใดๆทั้งสิ้น***

*** ธุรกิจขายตรงที่ดี และถูกกฎหมายก็มีเยอะนะครับ โปรดอย่านำบทความนี้ไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ดีเหล่านั้น ***

เมื่อเดือนก่อนผมได้มีโอกาสดูข่าวเกี่ยวกับการแฉขบวนการแก๊งค์แชร์ลูกโซ่ โดยอาศัยธุรกิจขายตรงบังหน้า ทำให้เหยื่อสูญเงินหลายแสนบาท แต่ได้ผลตอบแทนนิดเดียว ซึ่งตรงข้ามกับที่เขาโฆษณาชักชวนให้เหยื่อมาร่วมในธุรกิจ ใครสนใจคลิปข่าวดังกล่าวก็สามารถดูได้ด้านล่างนี้ครับ อยากให้ดูโดยเฉพาะช่วงนาทีที่ 27:09 ผู้เป็นเหยื่อได้ออกมาเปิดโปงขบวนการ

 

จากคลิปเหยื่อได้ออกมาเปิดเผยหมดแล้วนะครับว่ารูปแบบการหลอกลวงที่เขาใช้เป็นอย่าง แต่ผมจะขอนำมาเล่าสั้นๆ เผื่อบางคนไม่มีโอกาสได้ดูคลิปข่าวข้างต้น อย่างไรก็ตามผมอยากให้ทุกท่านชมคลิปก่อนนะครับ

ลักษณะธุรกิจแชร์ลูกโซ่เป็นอย่างไร

ธุรกิจแบบแชร์ลูกโซ่เน้นการเชิญชวนเหยื่อให้สมัครเป็นสมาชิกและร่วมลงทุนกับบริษัท โดยเสนอแผนการตลาดที่น่าตื่นเต้นและได้รับผลตอบแทนสูงมากในช่วงเวลาสั้นๆ โดยที่วิวัฒนาการแชร์ลูกโซ่ในปัจจุบันอาศัยรูปแบบธุรกิจขายตรง (Multi-Level Marketing: MLM) ซึ่งในหลายบริษัทอาจใช้คำอื่นที่แตกต่างกันออกไป เช่น การตลาดแบบระบบเครือข่าย (Network Marketing) และแชร์ลูกโซ่บางแห่งในปัจจุบันแฝงตัวอยู่ในธุรกิจแฟรนไชส์อีกด้วย

ลักษณะสำนักงานของบริษัทประเภทนี้ ส่วนมากมักจะเช่าอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ที่ตกแต่งสวยงามให้ดูน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ ยังมีการจ้างพนักงานมานั่งทำงาน หรือบางครั้งอาจเป็นไปได้ว่าพนักงานที่ถูกจ้างมายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบริษัทที่จ้างตนมานั้นทำธุรกิจอะไร รูปแบบการทำงานของธุรกิจแชร์ลูกโซ่เน้นการหาสมาชิกเพื่อมาร่วมลงทุนตามแผนธุรกิจ ซึ่งส่วนมากลักษณะแผนธุรกิจของบริษัทประเภทนี้แทบจะไม่ต่างกัน แต่จะอาจเปลี่ยนแค่รูปแบบโดยใช้สินค้าหรือบริการที่แตกต่างกันออกไปเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงการซื้อขายสินค้าเป็นเครื่องบังหน้าเพื่อเลี่ยงกฎหมายเท่านั้น

เนื่องจากสินค้าราคาสูงเกินความเป็นจริงมาก ทั้งนี้ เพราะราคาสินค้าดังกล่าวเป็นค่าตอบจากการพาคนมาเข้าเป็นสมาชิกนั่นเอง ยิ่งใครสามารถขยายเครือข่ายของตนได้ยาวเท่าผลตอบแทนจะเพิ่มเป็นเงาตามตัว สมาชิกที่มาก่อนจะถูกหลอกโดยให้ได้รับผลตอบแทนเป็นจำนวนเงินที่สูง เพื่อจูงใจให้ลงทุนเพิ่มและชักชวนคนใหม่ๆ มาร่วมลงทุนด้วย ดังนั้นเครือข่ายจึงขยายออกไปเป็นลูกโซ่อย่างรวดเร็ว กิจกรรมธุรกิจส่วนใหญ่เน้นไปที่การจัดประชุมสัมมนาที่น่าเชื่อถือ เพื่อจูงใจคนสมัครเป็นเครือข่ายหลังจากได้ฟังบรรยายแต่กลับไม่เน้นการนำเสนอตัวสินค้าและบริการแต่อย่างใด

กลวิธีชักชวน หาเหยื่อ

เอาหล่ะครับ ตอนนี้ลองมาดูกระบวนการการทำงานของขบวนการ หรือรูปแบบการหลอกล่อ เริ่มต้นด้วยการเชื้อเชิญผ่านทางอินเทอร์เน็ต (เช่น เครือข่ายสังคมออนไลน์ เปิดเว็บไซต์ และอีเมล์ เป็นต้น) ซึ่งเป็นวิธีการกระจายข้อมูลที่มีต้นทุนต่ำและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วที่สุด

เนื้อความการชักชวนเหยื่อนั้นส่วนใหญ่จะเป็นคำพูดในลักษณะลงทุนต่ำ รายได้สูง หรือยกตัวอย่างว่าคนนั้นคนนี้มีความสำเร็จในการร่วมธุรกิจ และยังเพิ่มความดึงดูดด้วยรูปเด็กวัยรุ่นกำลังถือเงิน หรือถ่ายรูปคู่กับสิ่งของที่มีลักษณะราคาแพง เช่นรถสปอร์ต หรือแม้กระทั่งรูปเช็คสั่งจ่ายคนเชิญชวนอีกด้วย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและกระตุ้นให้เหยื่อเกิดความโลภ จนเกิดความสนใจในการเข้าร่วมด้วย จากภาพที่ 1 จะเห็นว่ารูปแบบการยั่วความโลภของเหยื่อมากมาย

รูปที่ 1 แสดงรูปที่ถูกนำมาใช้ในการชักชวนเหยื่อให้เข้าร่วม

หากเหยื่อหลงเชื่อจะต้องส่งข้อมูลส่วนบุคคลให้ ทำให้ผู้ร้ายจะโทรศัพท์หรือติดต่อมาให้เราไปฟังหรือเข้าร่วมกระบวนการได้ ถ้าหากเหยื่อไม่ไปจะมีการข่มขู่ทำร้าย หรือด่าทอด้วย จากนั้นเมื่อเหยื่อที่หลวมตัวไปยังสถานที่นัดของแก๊งค์แชร์ลูกโซ่เหล่านี้ เขาจะมีการบรรยายเกี่ยวกับการทำธุรกิจขายตรง โดยหยิบยกผลตอบแทนจำนวนเงินให้ดู เพื่อกระตุ้นให้เหยื่ออยากร่วมธุรกิจด้วย

เมื่อเหยื่อจะร่วมทำธุรกิจก็จะต้องชำระเงินค่าสมัครที่ค่อนข้างแพงราวๆ 40,000 - 50,000 บาท ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบของการซื้อสินค้าเพื่อเพิ่มระดับสมาชิก (ระดับที่แทนด้วยชื่ออัญมณีต่างๆ) ซึ่งจากที่ผมเคยพูดคุยกับผู้ที่เคยเห็นสินค้า เขาบอกว่า มีน้ำผลไม้สมุนไพร ราคาขวดละ 1,300 บาท หากซื้อ 1 โหล จะได้ราคา 10,000 บาท และมีสินค้าชนิดเดียวอีกด้วย และแต่ละเดือนคนร้ายจะบังคับให้เหยื่อซื้อของอย่างนี้ไปเรื่อยๆ โดยอ้างว่าถ้าหากไม่ซื้อต่อ จะทำให้ระดับสมาชิกของเรานั้นถูกลดลงมาด้วย

ยังไม่หมดเท่านี้ ประเด็นของแก๊งค์แชร์ลูกโซ่จะต้องเพิ่มจำนวนสมาชิก เมื่อเหยื่ออยากได้เงินเยอะขึ้นจะต้องมีสมาชิก ดังนั้นเหยื่อก็จะชักชวนด้วยกระบวนการต่างๆผ่านอินเทอร์เน็ตที่กล่าวมาแล้วตอนต้น แล้วค่าสมัครสมาชิกของเหยื่อต่อจากนี้จะถูกแบ่งมาให้ผู้ชักชวน ทำให้ผู้ชักชวนยิ่งเชื่อสนิทใจมากขึ้นว่าทำแล้วได้เงินจริง ส่งผลให้ยิ่งเร่งการโฆษณาต่อไป นี่แหล่ะกระบวนการทั้งหมดของแก๊งค์แชร์ลูกโซ่

สังเกตอย่างไรว่านี่เป็นธุรกิจแชร์ลูกโซ่

1.ค่าสมัครสมาชิกแพง หากเป็นธุรกิจขายตรงทั่วไปค่าสมัครสมาชิกจะไม่แพง เป็นค่าเอกสารและดำเนินการเท่านั้น ซึ่งราคาเฉลี่ยนั้นจะไม่เกิน 1000 บาท (บวกลบนิดหน่อย) แต่ถ้าเป็นธุรกิจแชร์ลูกโซ่นั้นจะแพงกว่ามาก อาจจะถึง 40,000 - 50,000 บาทได้เลยทีเดียว
2.สินค้าที่ขายให้สมาชิกนั้นไม่มีคุณภาพ อ้างสรรพคุณเกินจริง ทีสำคัญแพงเกินเหตุ สินค้าที่ขายในระบบธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ส่วนใหญ่จะไม่มีคุณภาพ แต่มีการอ้างสรรพคุณมากมาย หรือแม้กระทั่งตัดต่อจากภาพรายการทีวี หรือหนังสือต่างๆ เพื่ออ้างถึงสรรพคุณ แม้ว่าในทั้งรายการโทรทัศน์นั้นจะกล่าวถึงสรรพคุณในด้านไม่ดีก็ตาม นอกจากนี้ราคาขายของสินค้ามักจะสูงเกินที่ควรจะเป็นอีกด้วย
3.เน้นหาสมาชิกใหม่มาเพิ่มเรื่อยๆ จำนวนสมาชิกต่อจากเหยื่อจะมีผลต่อผลตอบแทนของเหยื่อ ซึ่งสมาชิกใหม่นั้นถูกหลอกให้จ่ายค่าสมาชิกในราคาสูง และเงินจำนวนนั้นก็จะถูกแบ่งมาให้เหยื่อผู้ที่ชักชวนได้ ดังนั้นเหยื่อที่อยู่ในธุรกิจนี้มักจะสรรหาวิธีการต่างๆที่จะชักชวนผู้อื่นให้มาเข้าร่วมด้วย
4.ผลตอบแทนสูงเกินจริง แรงจูงใจอย่างหนึ่งของธุรกิจแชร์ลูกโซ่คือผลตอบแทนที่สูงมาก สามารถสำเร็จได้ในระยะสั้น แต่อย่างไรก็ตามหากคิดถึงค่าสมัครสมาชิกตั้งแต่ตอนแรกก็ถือว่ายังน้อยกว่ามากนัก

สัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกหลานของเราอาจตกเป็นเหยื่อ [1]

หากใครมีลูกหลานเรียนอยู่ปี 1-4 มีสัญญานเตือนดังต่อไปนี้
สัญญานเตือนที่ 1 .. อยู่ดีๆมีเรื่องใช้เงิน "ฉุกเฉิน" ประมาณ 40,000 - 50,000 บาท
สัญญานเตือนที่ 2 .. ลูกเริ่มพูดถึง "อาหารเสริม" บางอย่างรวมถึง "อยากให้ท่านได้ลองทาน" อาหารเสริมเหล่านั้น
สัญญานเตือนที่ 3 .. เริ่มพูดถึงฝันบางอย่าง .. ทำงานง่ายๆ .. เงินเยอะๆ .. มี passive income เลี้ยงตัวเอง .. รีไทร์เร็วๆ
สัญญานเตือนที่ 4 .. กลับบ้านกลับช่องดึกๆดื่นๆอย่างไม่เคยเป็นมา 
สัญญานเตือนที่ 5 .. ผลการเรียนตกลงอย่างผิดสังเกต

ทำอย่างไรเมื่อหลงเป็นเหยื่อแก๊งค์แชร์ลูกโซ่นี้แล้ว

1.แจ้งตำรวจพร้อมแสดงหลักฐานการเป็นสมาชิกและอื่นๆ
2.ยกเลิกการเป็นสมาชิก (ให้ถือคติที่ว่า เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย เงินที่เสียแล้วเสียไป ห่วงอนาคตของตนเองดีกว่า)
3.ถ้าบุตรหลานของท่านตกเป็นเหยื่อ ให้ปลอบใจ พร้อมกับให้ถอนตัวเสีย ห้ามดุด่า หรือต่อว่า แต่สอนให้เขาทราบถึงภัยเหล่านี้
4.แชร์ประสบการณ์แก่ผู้อื่น เพื่อเป็นอุทธาหรณ์สอนใจต่อไป

เอกสารอ้างอิง
[1] http://www.pantip.com/cafe/family/topic/N12648333/N12648333.html
[2] http://www.myfirstbrain.com/main_view.aspx?ID=67085