Friday, August 05, 2011

เครื่องมือตรวจสอบปลั๊กอินที่ไม่ปลอดภัยของเว็บเบราเซอร์

โปรแกรมที่จำเป็นอย่างหนึ่งของเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราในปัจจุบันที่ไม่มีใครปฏิเสธได้เลย นั่นก็คือเว็บเบราเซอร์ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ใช้ในการเข้าชมเว็บไซต์ต่างๆ ไม่เพียงเท่านี้โปรแกรมเว็บเบราเซอร์ในปัจจุบันก็สามารถเพิ่มลูกเล่นโดยการติดตั้งเครื่องมือหรือปลั๊กอินต่างๆ เพื่อให้เราสามารถใช้งานเว็บเบราเซอร์ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้เว็บเบราเซอร์เปิดไฟล์ Flash หรือเปิดเพลงของ Windows media player ได้ แต่เราจะทราบได้อย่างไรว่าเครื่องมือหรือปลั๊กอินที่เราดาวน์โหลดมาติดตั้งในเครื่องของเรานี้มีความปลอดภัยเพียงพอ หรือไม่เป็นจุดอ่อนของระบบของเราให้ไวรัสคอมพิวเตอร์หรือแฮกเกอร์เจาะระบบของเรา ดังนั้นบทความนี้ผู้เขียนจะแนะนำเครื่องมือที่ช่วยเราตรวจสอบปลั๊กอินต่างๆในเว็บเบราเซอร์ของเราว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ โดยจะตัวอย่างเครื่องมือที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
  • Mozilla Plugin Check Page

ทาง Mozilla เองก็ได้ให้บริการ Plugin Check page (http://www.mozilla.com/en-US/plugincheck/) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่สามารถตรวจสอบปลั๊กอินที่มีความเสี่ยงและถูกติดตั้งใน เว็บเบราเซอร์ของเรา โดยหน้าเว็บเพจนี้สามารถใช้ตรวจสอบปลั๊กอินของเว็บเบราเซอร์ได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น Firefox, IE หรือแม้กระทั่ง Google Chrome เองก็ตาม นอกจากนี้ยังถ้าหากสนใจรายละเอียดวิธีการทำงานทางเทคนิคของบริการนี้ สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://blog.mozilla.com/webdev/2009/10/13/plugin-checker-launched/




  • Google Chrome และ Secbrowsing

เป็นโชคดีของผู้ใช้งานกูเกิล Chrome ที่ไม่ต้องทำการอัพเดตปลั๊กอินด้วยตัวเอง เมื่อใดก็ตามที่เว็บเบราเซอร์ชนิดนี้ตรวจสอบพบว่าปลั๊กอินบนเว็บเบราเซอร์ของเรานั้นล้าสมัยไปแล้วก็จะทำการแจ้งเตือนให้ผู้ใช้งานทราบว่าขณะนี้มีปลั๊กอินที่ถูกติดตั้งอยู่นั้นมีเวอร์ชั่นใหม่แล้ว ผู้ใช้สามารถเลือกที่จะติดตั้งได้เลย หรือจะละทิ้งไว้ก่อนก็ได้ (ซึ่งผู้เขียนไม่แนะนำอย่างยิ่ง) อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.google.com/support/chrome/bin/answer.py?answer=1181003

หรือถ้าใครไม่สบายใจที่จะรอให้กูเกิล Chrome แจ้งการอัพเดตมานั้น ก็สามารถติดตั้งปลั๊กอินที่ชื่อ Secbrowsing ของกูเกิล Chrome ได้เลย ซึ่งปลั๊กอินนี้จะแจ้งการอัพเดตปลั๊กอินอื่นๆที่ถูกติดตั้งในเว็บเบราเซอร์ของเราได้รวดเร็วกว่าของกูเกิลเองอีกด้วย สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://chrome.google.com/extensions/detail/pgkcfihepeihdlfphbndagmompiakeci



  • Qualys BrowserCheck

Qualys BrowserCheck (เรียกใช้งานได้ที่ https://browsercheck.qualys.com/) เป็นเครื่องมือฟรีอีกชิ้นที่น่าสนใจมาก เนื่องจากสามารถใช้ในการตรวจสอบหาเวอร์ชั่นของเว็บเบราเซอร์และปลั๊กอินที่มีความเสี่ยงที่ถูกติดตั้ง สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://community.qualys.com/docs/DOC-1542



  • Secunia PSI

Secunia PSI เป็นเครื่องมือตรวจสอบหาช่องโหว่ที่จำเป็นจะต้องติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ก่อน ซึ่งแตกต่างจากเครื่องมือที่ได้แนะนำมาในข้างต้น ไม่จำเป็นต้องต้องติดตั้งก่อนใช้งาน โดยเครื่องมือชนิดนี้มีความสามารถตรวจสอบหาช่องโหว่ได้ทั้งปลั๊กอินบนเว็บเบราเซอร์ของเรา รวมไปถึงทุกๆซอฟต์แวร์ที่ถูกติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราอีกด้วย แต่ซอฟต์แวร์นี้ก็ยังมีข้อเสียอยู่ที่หน้าตาอินเทอร์เฟซที่ยังดูใช้งานค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตามโดยรวมแล้วก็ยังถือว่าซอฟต์แวร์นี้น่ามีไว้ใช้งานเป็นอย่างยิ่ง

หลังจากที่ได้รู้จักกับเครื่องมือสำหรับตรวจสอบช่องโหว่ของปลั๊กอินบนเว็บเบราเซอร์ของเราแล้วนะครับ สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือการป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดจากปลั๊กอินที่ถูกติดตั้งบนเว็บเบราเซอร์ของเรา ดังต่อไปนี้
  • ไม่เยี่ยมชมเว็บไซต์ที่มีความเสี่ยง เช่น เว็บการพนัน เว็บโป๊ หรือเว็บใต้ดินของแฮกเกอร์ เป็นต้น
  • ดาวน์โหลดปลั๊กอินจากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น
  • อย่าหลงเชื่อการแจ้งให้ดาวน์โหลดซอฟต์แวร์หรือปลั๊กอินจากอีเมล์หรือโปรแกรมสนทนาต่างๆ
  • หมั่นตรวจสอบและอัพเดตซอฟต์แวร์ต่างๆที่ถูกติดตั้งในเครื่องรวมไปถึงเบราเซอร์ของเราด้วย
เพียงเท่านี้เครื่องคอมพิวเตอร์ของเราก็ลดโอกาสที่จะถูกไวรัสคอมพิวเตอร์คุกคามผ่านเว็บเบราเซอร์ได้แล้ว อีกทั้งยังเป็นการช่วยทำให้เครื่องพิวเตอร์ของเราทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกด้วย

No comments: