Friday, August 26, 2011

ใช้กล้องตรวจจับความร้อนขโมยรหัสบัตรเอทีเอ็ม

ขออภัยด้วยนะครับที่ห่างหายไปหลายวัน เนื่องด้วยติดภารกิจต้องบรรยายเกือบทุกวัน วันที่ไม่มีบรรยายก็ต้องเตรียมสไลด์และเคลียร์งานเอกสาร ช่วงนี้กิจนิมนต์เยอะจริงๆ

ช่วงนี้ผมกำลังให้ความสนใจกับการโจมตีอุปกรณ์ต่างๆ (ที่ไม่ใช่เครื่องคอมพิวเตอร์อย่างที่เราคุ้นเคยกัน) แล้วผมจะค่อยๆทะยอยเล่าให้ฟังเรื่อยๆนะครับ วันนี้เป็นตอนแรกผมเลยอยากจะขอเปิดด้วยเรื่องราวของการใช้กล้องตรวจจับความร้อนขโมยรหัสบัตรเอทีเอ็ม

หลายๆคนอาจจะสงสัยว่าเหล่าแฮกเกอร์ทำได้อย่างไร ด้วยเหตุที่ทั้งกล้องตรวจจับความร้อนและตู้เอทีเอ็มไม่น่าจะมีความสัมพันธ์ใดๆเลย แต่เหตุไฉนเหล่าแฮกเกอร์จึงใช้ในการขโมยข้อมูลของเราได้

ในงานสัมนาชื่อ USENIX Security Symposium นักวิจัยชื่อ Keaton Mowery, Sarah Meiklejohn และ Stefan Savage จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (the University of California) ที่ซานดิเอโก ประเทศสหรัฐอเมริกาได้นำเสนอผลงานวิชาการในเรื่อง "Heat of the Moment: Characterizing the Efficacy of Thermal Camera-Based Attacks."

หากศึกษาจากงานวิจัยนี้จะพบว่าเขาใช้กล้องตรวจจับความร้อนรุ่น A320 FLIR ถ่ายไว้ที่ปุ่มกดที่ตู้เอทีเอ็ม ด้วยความร้อนจากมือเรากดลงไป ทำให้หลังจากกดแล้วยังพอมีความร้อนหลงเหลืออยู่และสามารถทำให้เรารู้ได้ว่ารหัสบัตรเอทีเอ็มคือเลขใด โดยในการทดลองนี้เขาได้ทดลองกับปุ่มทั้งแบบพลาสติกและโลหะดังรูป

รูปที่ 1 แสดงอุปกรณ์ปุ่มโลหะสำหรับการทดลอง

รูปที่ 2 แสดงอุปกรณ์ปุ่มพลาสติกสำหรับการทดลอง

ในการทดลองนี้ใช้อาสาสมัครจำนวน 21 คน และใช้รหัสบัตรเอทีเอ็มที่สุ่มมาจำนวน 27 หมายเลข และตัวเลขเหล่านั้นก็มีบางค่าที่เป็นตัวเลขซ้ำด้วย (เช่น 2227 หรือ 0510 เป็นต้น) ที่ทดลองกดปุ่มทั้งแบบที่เป็นพลาสติกและโลหะ ซึ่งผลการวิจัยนี้พบว่าสามารถเห็นร่องรอยความร้อนที่ปรากฎอยู่บนปุ่มกดพลาสติกและวิเคราะห์ปุ่มที่ถูกกดได้แม่นยำถึง 80% ในระยะเวลา 10 วินาทีหลังจากกดปุ่ม จากรูปที่ 3 นี้จะพบว่าปุ่มหมายเลข 1 4 5 และ 8 มีการถูกกด ซึ่งหมายเลขจริงที่กดนั้นคือ 1485 นับได้ว่ามีความใกล้เคียงและสามารถเดาได้ง่ายมากยิ่งขึ้น หากไม่ใช้วิธีนี้จำเป็นจะต้องเดารหัสบัตรตั้งแต่ 0000-9999 (จำนวน 10,000 ครั้ง)
รูปที่ 3 แสดงภาพความร้อนที่หลงเหลือหลังจากกดปุ่มในตู้เอทีเอ็ม

รูปที่ 4 แสดงภาพปุ่มที่ถูกกดหลังผ่านไป 90 วินาที จะเห็นว่าเห็นปุ่ม 1 4 และ 5 ถูกกด

แต่โชคดีที่การทดลองนี้ไม่ประสบความสำเร็จกับปุ่มที่เป็นโลหะ ซึ่งถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน แต่ก็อย่าชะล่าใจไปนะครับ เนื่องจากเหล่าแฮกเกอร์ไม่เคยลดละความพยายามที่จะขโมยข้อมูลของเรา ดังนั้นเราจะต้องระวังตัวให้มากในยุคที่ข้าวยากหมากแพงเช่นนี้ด้วยครับ

No comments: