Thursday, March 03, 2011

ฤๅ 2554 จะเป็นปีแห่งไวรัสบนโทรศัพท์มือถือ

โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์จำเป็นของเรา และปัจจุบันโทรศัพท์มือถือมีความสามารถสูงมาก มีระบบปฏิบัติการ และสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ เท่านี้ก็ส่งผลให้โทรศัพท์มือถือของเราใกล้เคียงกับคอมพิวเตอร์มากขึ้นทุกที แต่คิดหรือไม่ครับว่าคอมพิวเตอร์นั้นเป็นเป้าหมายการโจมตีของเหล่าแฮกเกอร์ ไวรัส โทรจัน และสิ่งอื่นๆ เพื่อที่จะเข้ามาขโมยข้อมูล ก่อกวน หรือทำอันตรายต่อเครื่องและระบบเครือข่ายของเรา แต่นี่เป็นโทรศัพท์มือถือจำนวนโทรศัพท์มือถือและจำนวนผู้ใช้งานนั้นมีมากกว่าคอมพิวเตอร์มากนัก ทำให้โอกาสที่ผุ้ใช้งานจะตกเป็นเหยื่อย่อมมีสูงกว่า และแฮกเกอร์ก็เบนเป้าหมายไปยังโทรศัพท์มือถือที่นับวันจะมีความสามารถสูงขึ้น ผุ้ใช้งานมากขึ้น แต่ราคาถูกลง

ไอโฟน บีบี ซิมเบียน หรือ แอนดรอยด์ โทรศัพท์ยุคใหม่จะต้องทำหน้าที่ได้มากกว่ารับสาย โทรออก หรือส่งข้อความ แต่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ดาวน์โหลดแอพใหม่ๆ เกมส์ใหม่ๆ หรือโปรแกรมช่วยทำงานมากมาย แน่นอนครับว่ามีคนบางกลุ่มที่เขาอาศัยช่องทางนี้ในการเพยแพร่ไวรัสที่โจมตีโทรศัพท์มือถือ ตั้งแต่ปี 2006 ไวรัสบนโทรศัพท์มือถือตัวแรกก็ถูกส่งออกมา ชื่อ Carbir ฝังที่โทรศัพท์ที่ติดตั้งระบบปฏิบัติการซิมเบียน ซึ่งเป็นโทรศัพท์ที่มีความสามารถสูงในช่วงเวลานั้น และไวรัสชนิดนี้จะแพร่กระจายผ่านบลูทูธ และMMS ทำให้ใครก็ตามที่เปิดใช้บลูทูธทิ้งไว้จะเหมือนมีคนพยายามส่งไฟล์ให้ ถ้าหากเราเข้าใกล้เครื่องที่ติดไวรัสชนิดนี้ ผมเองก็ชอบเปิดเพื่อดักเหมือนกัน เวลาไปโรงภาพยนตร์ก็จะมีแจ้งเตือนว่ามีคนต้องการจะส่งไฟล์ให้ผมผ่านบลูทูธ ต่อจากนั้นก็มีโทรจันที่แพร่กระจายโดยหลอกว่าเป็นไฟล์โปรแกรมเกมส์ให้เราดาวน์โหลดกัน เช่น Mosquitoes โดยบอกว่าเป็นตัวแคร็กเกมส์ Mosquitoes ทำให้มีคนดาวน์โหลดมากมาย นอกจากนี้ก็ยังมี Skull ที่โทรศัพท์ซิมเบียนใดที่ติดแล้วก็จะถูกเปลี่ยนไอคอนเป็นรูปหัวกระโหลกไขว้หมดเลย

ในปีที่แล้ว 2552 โทรจันชื่อ Jailbroken ก็ถูกเขียนขึ้นให้โจมตีไอโฟน เป็นตัวแรก นับเป็นโทรจันที่มุ่งโจมตีโทรศัพท์อื่นนอกจากซิมเบียนเป็นตัวแรก นับแต่นั้นเป็นต้นมาดูเหมือนพัฒนาการของไวรัสบนโทรศัพท์มือถือก็สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนในปี 2553 โทรจันบนแอนดรอยด์ที่เป็นระบบปฏิบัติการบนโทรศัพท์มือถือของกูเกิลก็ถูกค้นพบเป็นตัวแรก และหลังจากนั้นตั้งแต่ต้นปี 2554 มีโทรจันบนแอนดรอยต์ที่ถูกค้นพบเพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างมาก โดยโทรจันเหล่านี้แฝงตัวเองเป็นเหมือนแอพให้ดาวน์โหลดใน app world ทำให้มีคนดาวน์โหลดไปติดตั้งอย่างมาก จนถึงขณะนี้มีถึง 50 แอพแล้วเป็นถูกตรวจสอบว่าเป็นโทรจัน และนอกจากนี้โทรจันชื่อ Zeus ที่สร้างความน่ากลัวมาแล้วในการแพร่กระจายบนเครื่องคอมพิวเตอร์และแอบดักรหัสผ่าน จนสามารถขโมยเงินออกจากบัญชีของเหยื่อได้ และเป็นข่าวโด่งดังหน้าหนึ่งในประเทศไทยมาแล้วเมื่อปีก่อน ก็ได้ถูกเขียนใหม่ให้สามารถรันได้บนระบบปฏิบัติการซิมเบียน และวินโดวส์โมบาย 7 ไม่อยากจะคิดเลยว่าถ้าต่อไปคนไทยใช้แอพบนโทรศัพท์มือถือในการทำธุรกรรม แล้วถูกโทรจันพวกนี้ติดตั้งในเครื่องโทรศัพท์แล้วจะทำให้การใช้โทรศัพท์มือถือของเรายุ่งยากขนาดไหน

แต่ที่เล่ามานั้นยังไม่น่ากลัวเท่ากับบ็อตเน็ตที่ฝังในโทรศัพท์มือถือ ลองคิดดูสิครับ ถ้าหากแฮกเกอร์แพร่กระจายบ็อตเน็ตไปยังโทรศัพท์มือถือ ด้วยปริมาณของโทรศัพท์ที่มีมากมายแถมยังเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลาผ่านเครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ แล้วแฮกเกอร์คนนี้สั่งโทรศัพท์มือถือที่ถูกฝังบ็อตเน็ตของตนให้ทำการโจมตีระบบเครือข่ายของสถานที่สำคัญ หรือ Critical infrastructure เช่นไฟฟ้า น้ำปะปา รถไฟฟ้า รถใต้ติน หรือแม้แต่ผู้ให้บริการโทรศัพท์ก็ตาม ทำให้หน่วยงานเหล่านั้นไม่สามารถให้บริการได้ เช่นไฟฟ้าดับ น้ำปะปาไม่ไหล รถไฟฟ้าและรถใต้ดินหยุดให้บริการ ผู้คนติดอยู่ในนั้น เป็นต้น นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการโจมตีของไวรัสโดยอาศัยโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นเราจึงช่วยกันป้องกันโดยการไม่ติดตั้งโปรแกรมที่เราไม่แน่ใจ หรืออย่าหลงเชื่อให้ดาวน์โหลดแอพใดๆโดยไม่ตรวจสอบก่อน หากพบว่าโทรศัพท์มือถือของเราผิดปกติ ให้ติดต่อศูนย์ให้บริการทันทีเพื่อระงับเหตุและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเราเองและระบบเครือข่ายได้ต่อไป

No comments: