Monday, March 14, 2011

แผนรับมือภัยพิบัติ บทเรียนจากสึนามิที่ญี่ปุ่น

ก่อนอื่นผมเองอยากแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตในประเทศญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าผมไม่ได้อยู่ที่นั่น แต่ผมเองมีความผูกพันค่อนข้างเยอะ ตั้งแต่ได้เคยไปเที่ยว ไปเรียนระยะสั้น ไปบรรยาย ฯลฯ เดินทางเข้าออกญี่ปุ่นเกือบสิบครั้งแล้วในรอบสองปีที่ผ่านมานี้ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นอะไรหรอกครับ ที่อยากจะมาแชร์ในบล็อกนี้คือเรื่องของแผนรับมือภัยพิบัติ หรือ Disaster Recovery Plan ซึ่งผมเองก็ไม่ค่อยเชี่ยวชาญด้านนี้สักเท่าไหร่นัก แต่ก็อยากให้ผู้อ่านถือว่าเป็นมุมมองของนักเทคนิคด้านการรักษาความปลอดภัยสารสนเทศคนนึงเท่านั้น ถ้าอยากแชร์หรือแนะนำอะไรก็คอมเม้นต์ได้นะครับ

ภัยพิบัติ หรือ Disaster เป็นอันตรายที่ธรรมชาติหรือมนุษย์สร้างขึ้น ส่งผลก่อให้เกิดความเสียหายทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นการทำลาย การสูญเสียชีวิต หรือความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้เกิดเป็นเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลดเสียใจอย่างมากในวงกว้าง ตัวอย่างของภัยพิบัติได้แก่ แผ่นดินไหว น้ำท่วม ไฟไหม้ ระเบิด อุบัติเหตุต่างๆ หรือ สึนามิ เป็นต้น

ดังนั้นการรับมือภัยพิบัติ Disaster Recovery ตามนิยามของวิกิพีเดีย หมายถึงนโยบาย กระบวนการ และขั้นตอน ที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติ หรือทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่สำคัญสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่องหลังเกิดภัยพิบัติ การรับมือภัยพิบัตินี้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity) ในขณะที่การสร้างความต่อเนื่องของธุรกิจนั้นเกี่ยวข้องกับการวางแผนในการรักษาให้ธุรกิจทำงานได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางเหตุการณ์ความวุ่นวาย ส่วนการรับมือภัยพิบัตินี้จะเน้นระบบไอทีหรือเทคโนโลยีที่ทำงานสนับสนุนฟังก์ชั่นธุรกิจ

เกริ่นนำนิยามที่แสนจะน่าเบื่อมาแล้วนะครับ ซึ่งหลายคนคงจะเข้าใจนิยามแล้วนะครับ ต่อจากนี้ผมจะลองยกตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงไม่นานมานี้นะครับ ผมขอเริ่มด้วยเหตุการณ์กลุ่มผู้ชุมนุมเผาอาคารสถานที่ต่างๆ ที่เป็นย่านการค้าและธุรกิจที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของกรุงเทพและประเทศไทย เช่นห้างสรรพสินค้ามากมาย โรงแรมดังๆ ฯลฯ ทำให้ธุรกิจดังกล่าวไม่สามารถให้บริการได้ ธุรกิจให้บริการไม่ได้ ดังนั้นเจ้าของธุรกิจก็จำเป็นจะต้องย้ายทีทำงานเพื่อเป็นช่วยเหลือพนักงาน แต่หากเราไม่มีแผนในการจัดตั้งที่ทำงานสำรอง (เช่นไม่มีโรงแรมสาขา หรือออฟฟิศสาขา) เจ้าของธุรกิจก็คงจำเป็นต้องให้พนักงานหยุดพักงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย หลังจากที่พนักงานหยุดพักงานก็ทำให้พนักงานเหล่านั้นไม่มีรายได้ พอไม่มีรายได้ก็อาจจำเป็นจะต้องไปปล้นหรือก่ออาชญากรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินเพื่อประทังชีวิต พอเหตุเหล่านี้เกิดขึ้นเยอะๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ อาจทำให้กรุงเทพเป็นเมืองที่มีอาชญากรรมเยอะจนติดอันดับโลก และส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยว(ที่ถือว่าเป็นธุรกิจหลักอย่างหนึ่งของประเทศ)ซบเซา พอประเทศขาดรายได้ก็จะทำให้ประเทศพัฒนาได้ช้าลง หรือหยุดการพัฒนา พอหยุดการพัฒนาการแข่งขันต่างๆในเวทีระดับโลกไม่ว่าจะเป็นเรืองการลงทุน เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ก็ถอยหลังจนทำให้ประเทศเราล้าหลังได้ในที่สุด พอประเทศล้าหลัง ประชาชนในประเทศมีความลำบากเรื่องการอยู่การกิน ก็ยิ่งจะทำให้ปัญหาเหล่านี้แก้ลำบากมากยิ่งขึ้น (ผมคิดมากไปป่าวเนี่ย) นี่เป็นเพียงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้หากเราไม่มีแผนรับมือกับมัน แต่ประเทศไทยยังโชคดีหน่อยที่ไม่ค่อยมีภัยพิบัติมากเท่าประเทศญี่ปุ่น ที่ประเทศเขานั้นเจอเหตุการณ์แผ่นดินไหวบ่อยมาก พักหลังๆมานี้ประเทศไทยเองก็มีแผ่นดินไหวบ้าง ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาทเราต้องใส่ใจกับเรื่องนี้ด้วยนะครับ

โม้มาซะนานกว่าจะเข้าเรื่องหลักได้สักที หลายๆคนคงทราบข่าวเรื่องของแผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ใช่ไหมครับ เริ่มต้นด้วยแผ่นดินไหวขนาดความแรง 8.9 ริกเตอร์ มีศูนย์กลางอยู่นอกชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างจากเมืองเซนได บนเกาะฮอนชู ราว 130 กิโลเมตร ลึกลงไปใต้ทะเล 24 กิโลเมตร และในเวลาต่อมาได้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ความสูง 4 เมตร พัดถล่มบริเวณชายฝั่งที่อยู่ใกล้กับศูนย์กลางของแผ่นดินไหว ส่งผลให้รถยนต์จำนวนมากและอาคารบ้านเรือนถูกคลื่นซัดลงไปในทะเล ราวกับเอาของเล่นมาตั้งแล้วเอาน้ำสาดให้ไปกองรวมกัน แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวทำให้อาคารขนาดใหญ่หลายแห่งในกรุงโตเกียวสั่นไหวอย่างรุนแรง คนงานจำนวนมากหนีตายกันจ้าละหวั่น ทั้งยังเกิดเพลิงไหม้อาคารหลังหนึ่ง นอกจากนี้ รถไฟชินกันเซ็นต้องหยุดให้บริการขณะเกิดแผ่นดินไหว และทางการต้องปิดสนามบินนาริตะ

จากเหตุการณ์นี้ทำให้ผมได้เรียนรู้เรืองเกี่ยวกับแผนรับมือภัยพิบัติของประเทศญี่ปุ่นมากมาย ผมมีเพื่อนหลายคนที่ทำงานอยู่ JPCERT/CC ซึ่งเป็นหน่วยงาน CERT ของประเทศญี่ปุ่น (ทำหน้าที่เหมือนกับ ThaiCERT ซึ่งเป็น CERT ประจำประเทศไทยนั่นเอง) ในวันนั้นพวกเขาก็ไม่ได้กลับบ้าน รอดูสถานการณ์กันอย่างใจจดใจจ่อ ซึ่งมีเพื่อนคนหนึ่งชื่อ คริส โฮสลี่ย์ ได้เขียนบล็อกของเขาเหมือนกัน เล่าถึงรายละเอียดเป็นช่วงเวลาว่าเวลาเท่านี้เกิดอะไรขึ้น มีสิ่งหนึ่งที่ผมได้ความรู้จากการอ่านบล็อกของเขาก็คือ คนญี่ปุ่นเขามีการเตรียมความพร้อมรับมือต่อเหตการณ์ภัยพิบัติอย่างมาก เป็นต้นว่าเขาบอกว่าที่ญี่ปุ่นซ้อมรับมือแผ่นดินไหวตั้งแต่เรียนชั้นประถม แต่ลองคิดเล่นๆประเทศไทยกว่าจะได้ซ้อมหนีไฟก็ปาเข้าไปเริ่มทำงานแล้ว (ไม่อยากนับอายุที่แตกต่างกันเลยครับ) แถมเวลาเราซ้อมหนีไฟนั้นเราก็ซ้อมแบบขอไปที ไม่ให้ความใส่ใจ จนอดคิดไม่ได้ว่าถ้าหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงๆ เราจะสามารถทำตามได้หรือไม่ แต่กระนั้นคริสได้เล่าต่อว่าเพื่อนๆที่เป็นชาวญี่ปุ่นนั้นก็หาหมวกมาครอบแล้วหลบไปอยู่ใต้โต๊ะ เขาคงฝึกตั้งแต่เด็กจนกลายเป็นความเคยชิน สามารถปฏิบัติได้อย่างอัตโนมัติ นอกจากนี้คริสยังเล่าให้ฟังอีกว่าดูคนญี่ปุ่นไม่ตกใจกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงนี้เลย เพราะดูแล้วไม่ตื่นตระหนกตกใจ ปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ผมว่านี่แหล่ะสิ่งที่เขาปลูกฝังให้คนญี่ปุ่นและมีประโยชน์อย่างมากในการที่รัฐจะขับเคลื่อนให้ประเทศเจริญก้าวหน้าได้ ก็ต้องเริ่มจากคนนี่แหล่ะครับ

หลังจากแผ่นดินไหวรอบแรกสงบลงเพื่อนๆของผมก็ลงมาจากตึกและคริสได้เล่าอีกว่า โทรศัพท์มือถือใช้การไม่ได้ แต่ 3G กลับใช้งานได้อย่างเหลือเชื่อ จากนั้นผมก็ถามคริสอีกว่าทำไม เขาบอกว่าคนส่วนใหญ่จะโทรศัพท์และส่งอีเมล์จากโทรศัพท์มือถือ (เหมือน sms บ้านเรา) ทำให้คู่สายเต็ม ดังนั้นจึงโทรติดยากมาก แต่เหมือนกับว่าสายอินเทอร์เน็ตนี่แยกกันคนละสายทำให้ยังเหลือช่องทางการติดต่อกับคนภายนอกได้อยู่บ้าง มาลองคิดดูเล่นๆอีก โทรศัพท์มือถือในเมืองไทยนั้นน่าจะไม่ได้แยกกัน แค่ช่วงปีใหม่ที่เราอยากจะอวยพรคนรักหรือส่งข้อความให้ถึงตอนเที่ยงคืนพอดีนั้นยังทำได้ยากเลย และหากเราเดินทางไปต่างจังหวัดเมื่อสัญญาณโทรศัพท์ไม่มี สัญญาณอินเทอร์เน็ตก็หายไปด้วย (ถ้าเกิดเหตุการณ์จริงๆ ท่าทางจะลำบากเหมือนกันนะเนี่ย) แต่เท่าที่ผมจำได้เหมือนเนคเทคเองเคยทำรถชูชีพ คือเป็นรถที่สามารถให้บริการการเชื่อมต่อโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ต ไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินที่บางพื้นเกิดภัยพิบัติจนไม่สามารถให้บริการเครือข่ายได้ ดังนั้นการมีสายสำหรับกรณีฉุกเฉินมีไว้ก็น่าจะดี

เรื่องสุดท้ายก่อนที่ผมจะหลับคาคอมพ์ในคืนนี้นั้น ผมอยากจะแชร์เรื่องของโรงงานพลังงานนิวเคลียร์กันบ้าง เป็นที่น่าสลดอย่างยิ่งที่เกิดการระเบิดขึ้นของโรงงาน หลังจากผมได้คุยกับเพื่อนสนิทผมอีกคนหนึ่งได้เล่าให้ฟังถึงบริษัทที่ดูแลโรงงานนิวเคลียร์ว่ามีแผนรับมือไม่ค่อยดีเท่าไรนัก มีหลายๆเหตุการณ์ที่เพื่อนผมคนนี้อธิบายให้ฟัง (ด้วยความที่เราไม่ได้อยู่ญี่ปุ่น ก็จะไม่รู้เรื่องรายละเอียด เลยต้องให้เพื่อนเล่าให้ฟัง) ไม่ว่าจะเป็นการกระทำใดๆก็ตามของทางบริษัทนี้ต่อโรงงานนิวเคลียร์นั้นก็ช้าเกินไป สายเกินไป ผิดพลาดบ่อยๆ อย่างเช่นวันนี้ทางบริษัทได้ประกาศตัดไฟทั่วญี่ปุ่น โดยประกาศตัดไฟเป็นช่วงเวลาตามเมืองต่างๆเป็นเขตๆ เช่น เขต1ตัดช่วง 8-11 am เขต2ตัดไฟฟ้าช่วง 10am-1pm .... จนเขต5 แต่แล้วบริษัทนี้ก็ไม่ได้ตัดไฟจนกระทั่งเวลา 5โมงเย็นของวันนี้ก็ตัดไฟเขต5 ซึ่งประกอบด้วยเพียง 2 เมืองในเขตนี้ โดยที่บริษัทนี้ออกมาแก้ตัวแค่ว่า "ทางเราไม่ได้ตรวจสอบรายชื่อเมืองให้ดีก่อน" ซึ่งนี่ก็เหมือนเป็นหนึ่งว่าไร้ความรับผิดชอบ ผมว่าเราหยุดสิ่งไม่ดีที่เกิดขึ้นก่อนดีกว่านะครับ เดี๋ยวเราจะไปดูตัวอย่างดีๆบ้างดีกว่า(ผมจะโดนฟ้องไหมเนี่ย แต่ผมแค่เล่าว่ามันเกิดอะไรขึ้นเฉยๆนะครับ)อย่างไรก็ตามเพื่อนก็ได้ยกตัวอย่างแผนรับมือภัยพิบัติที่ดีว่าเป็นอย่างไร เขาเล่าว่าเพียง 15 นาทีหลังจากแผ่นดินไหวครั้งแรก ฝ่ายที่ทำแผนรับมือภัยพิบัติของบริษัทก็ออกมาเพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาทันที

เห็นไหมครับ แผนรับมือภัยพิบัติของญี่ปุ่นมีทั้งดีและไม่ดี ดังนั้นเราจึงควรศึกษาสิ่งที่ญี่ปุ่นประสบ แล้วเราเตรียมการแก้ไขและป้องกันต่อไป

No comments: